เขาคอหงส์ เป็นพื้นที่สี่เขียวที่ใกล้ชิดกับเมืองหาดใหญ่มากที่สุด พื้นที่แห่งนี้ให้บริการในเชิงนิเวศกับชุมชนรอบข้างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งต้นน้ำ แหล่งผลิตอากาศบริสุทธิ์ หรือแหล่งทรัพยากรธรรมชาติท้องถิ่นที่รอการนำไปใช้ แม้ว่าพื้นที่บนเขาคอหงส์จะถูกใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย แต่ยังมีพื้นที่บางส่วนที่ถูกสงวนไว้เพื่อการอนุรักษ์ โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พื้นที่ดังกล่าวได้รับการศึกษาวิจัยอย่างเข้มข้น มีการเก็บรวบรวมข้อมูลซึ่งเป็นตัวแทนของทรัพยากรธรรมชาติบนเขาคอหงส์ด้วยเหตุนี้ โครงการร่วมอนุรักษ์เขาคอหงส์ จึงได้ร่วมมือกับภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ และพิพิธภัณฑ์ฯ เพื่อจัดทำเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเขาคอหงส์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้กับชุมชน และผู้สนใจ

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเขาคอหงส์ ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันตกของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ติดกับหมู่บ้านอาจารย์ โดยเส้นทางจะตัดผ่านพื้นที่ป่า โดยเฉพาะป่าทุติยภูมิที่เกิดขึ้นภายหลังสวนยางพาราถูกทิ้งร้างไว้ ทำให้ผู้เดินสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการฟื้นตัวของป่า นอกจากนี้เส้นทางยังตัดผ่านลำธาร ทำให้ผู้เดินศึกษาเห็นความสำคัญของป่าในฐานะแหล่งต้นน้ำ ซึ่งลำธารนี้จะไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญที่ใช้กันในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้เส้นทางระยะทาง 1.2 กิโลเมตรยังตัดผ่านพื้นที่ป่าทุติยภูมิที่เกิดจากการตัดถาง และป่าดั้งเดิม หรือป่าปฐมภูมิอีกด้วย

ในระหว่างเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ จะมีสถานีศึกษา ที่เล่าเรื่องทางธรรมชาติวิทยาที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถให้ผู้เดินได้ทำกิจกรรม หรือเกิดการคิดวิเคราะห์ เช่น ธนาคารน้ำ ที่เล่าเรื่องป่าในฐานะแหล่งต้นน้ำ หรือ ผู้ผลิตออกซิเจน ที่มีกิจกรรมให้ผู้เดินได้สามารถคำนวณปริมาณออกซิเจนที่ป่าเขาคอหงส์ผลิตได้ เป็นต้น นอกจากนี้ ภายในเส้นทางยังมีการจัดทำป้ายพรรณไม้ เพื่อบอกชื่อ และประโยชน์ของพรรณไม้บางชนิดที่พบได้บนเขาคอหงส์ นอกจากป้ายต่างๆแล้ว ผู้เดินยังสามารถมาขอรับเอกสารประกอบการเดินได้จากพิพิธภัณฑ์ฯ

 

Copyright © 2015-2025 Princess Maha Chakri Sirindhorn Natural History Museum
Page designed and created by Thidawan.s