กิจกรรมห้องเรียนพิเศษ เป็นกิจกรรมทางวิชาการเสริมการเรียนรู้เนื้อหาหลักสูตรปกติในห้องเรียน โดยกิจกรรมนี้มีเป้าหมายให้นักเรียนได้เรียนรู้เนื้อหาทางวิชาการด้านชีววิทยา ธรรมชาติวิทยา และด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ผ่านทางกิจกรรมที่นักเรียนจะได้ลงมือทำ นักเรียนจะได้ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา และมีการฝึกการคิดวิเคราะห์ ที่สำคัญ กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่สนุก ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข เป็นการส่งเสริมให้นักเรียนมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ กิจกรรมห้องเรียนพิเศษมีลักษณะเป็นฐานการเรียนรู้ย่อยๆ นักเรียนจะได้มีการหมุนเวียนไปเรียนรู้ในฐานต่างๆ ซึ่งฐานกิจกรรมแต่ละฐานก็จะมีเนื้อหาที่เหมาะสมกับช่วงอายุของนักเรียนที่ต่างกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ตารางแสดงช่วงชั้นที่เหมาะสมในการทำกิจกรรม

ป.1 ป.2 ป.3 ป.4 ป.5 ป.6 ม.1 ม.2 ม.3 ม.4 ม.5 ม.6
A
B E
C D F G

A ป.1 – ม.6 E ม.1 – ม.6
B ป.1 – ป.6 F ม.1 – ม.3
C ป.1 – ป.3 G ม.4 – ม.6
D ป.4 – ป.6    
       
กิจกรรม A01 ห่วงโซ่อาหาร
กิจกรรม B01 การวาดภาพสัตว์
กิจกรรม B02 ลูกไม้หล่นไกลต้น
กิจกรรม E01 ผู้ผลิตออกซิเจน
กิจกรรม E02 ธนาคารน้ำ
กิจกรรม E03 พฤติกรรมความเคยชิน
กิจกรรม E04 การเลียนแบบ
กิจกรรม G01 การจัดจำแนกสิ่งมีชีวิต
กิจกรรม G02 การคัดสรรตามธรรมชาติ และการเกิดชนิดใหม่
กิจกรรม G03 ยีนส์กระโดด

 

กิจกรรม A01 ห่วงโซ่อาหาร

ช่วงชั้นที่เหมาะสม

ป.1–ม.6

จำนวนนักเรียนที่เหมาะสม

30 คน

เวลาที่ใช้

30 นาที

ห่วงโซ่อาหาร คือ กระบวนการถ่ายทอดพลังงานผ่านการกินของสิ่งมีชีวิต ในระบบนิเวศ โดยประกอบด้วยสายใยอาหารหลายๆสาย ซ้อนทับและเชื่อมโยงกันไปมา ในระบบนิเวศหนึ่งๆจะประกอบด้วยผู้ผลิต และผู้บริโภคลำดับชั้นต่างๆ ซึ่งหากขาดตัวใดตัวหนึ่งไปก็จะทำให้ระบบมีการเปลี่ยนแปลง เกิดการเสียสมดุล

วิธีการ

  1. อธิบายและยกตัวอย่างเกี่ยวกับระบบนิเวศ และห่วงโซ่อาหาร
  2. ให้นักศึกษาสำรวจสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ
  3. ให้นักศึกษาสร้างห่วงโซ่อาหาร จากสิ่งมีชีวิตที่สำรวจพบ
  4. อธิบายสรุปความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศในเชิงการถ่ายทอดพลังงาน

 

กิจกรรม B01 การวาดภาพสัตว์

ช่วงชั้นที่เหมาะสม

ป.1 – ป.6

จำนวนนักเรียนที่เหมาะสม

30 คน

เวลาที่ใช้

30 นาที

การวาดภาพเป็นการบันทึกข้อมูลวิธีหนึ่ง ในการวาดภาพสัตว์นั้นจำเป็นจะต้องมีการสังเกต เข้าใจธรรมชาติ และลักษณะที่สำคัญของสัตว์แต่ละชนิด นอกจากนี้กระบวนการพื้นฐานในการวาดภาพที่ถูกต้องยังทำให้ภาพที่วาดนั้นมีความสวยงาม ซึ่งภาพเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์ในการสร้างแรงกระตุ้น และแรงบันดาลใจในการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ เป็นการบูรณาการเอาศิลปะมาใช้ส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

วิธีการ

  1. อธิบายหลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับการวาดภาพ
  2. สาธิตวิธีการวาดภาพสัตว์ชนิดต่างๆ
  3. ให้นักเรียนลงมือปฏิบัติ
  4. แนะนำเทคนิคและวิธีการเพิ่มเติมในการพัฒนาฝีมือ

 

กิจกรรม B02 ลูกไม้หล่นไกลต้น

ช่วงชั้นที่เหมาะสม

ป.1 – ป.6

จำนวนนักเรียนที่เหมาะสม

30 คน

เวลาที่ใช้

30 นาที

พืชมีกลวิธีในการกระจายเมล็ดพันธุ์หลากหลายวิธี มีพืชหลายชนิดที่มีวิวัฒนาการจนผล หรือเมล็ด มีส่วนคล้ายปีก ทำให้เมล็ดหรือผลนั้นถูกลมพัดพาไปได้ไกล เช่น ยาง ตะเคียน และประดู่ ลักษณะดังกล่าวเป็นผลทางวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอด

วิธีการ

  1. ให้นักเรียนศึกษาตัวอย่างเมล็ดและผลที่มีส่วนคล้ายปีก ซึ่งช่วยให้กระจายพันธุ์ไปได้ไกล
  2. ตั้งคำถามเกี่ยวกับประโยชน์ของส่วนคล้ายปีก
  3. ออกแบบและสร้างแบบจำลองผลของพืชสกุลยาง ซึ่งมีปีก 2 ปีกจากกระดาษ
  4. อธิบายหลักการทางฟิสิกส์ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

 

กิจกรรม E01 ผู้ผลิตออกซิเจน

ช่วงชั้นที่เหมาะสม

ม.1 – ม.6

จำนวนนักเรียนที่เหมาะสม

30 คน

เวลาที่ใช้

45 - 60 นาที

หมายเหตุ

กิจกรรมภาคสนาม

ในกระบวนการสร้างอาหารของพืช พืชจะใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสารตั้งต้น และในที่สุดก็จะได้ก๊าซออกซิเจนเป็นผลิตภัณฑ์ ดังนั้นพืชจึงถือเป็นผู้ผลิตออกซิเจน ในแต่ละวันคนเราต้องใช้ออกซิเจนในการหายใจประมาณ 850 กรัม ซึ่งผลิตได้จากต้นไม่ที่มีเส้นรอบวง 850 เซนติเมตร ดังนั้น นักเรียนจะได้เรียนรู้วิธีการคำนวณโดยประมาณ ว่าพื้นที่ป่าแต่ละแห่งที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ สามารถผลิตออกซิเจนให้คนได้กี่คน

วิธีการ

  1. สร้างพื้นที่สำรวจขนาด 5x5 ตารางเมตร
  2. วัดขนาดเส้นรอบวงของต้นไม้ในพื้นที่
  3. คำนวณหาปริมาณออกซิเจนที่ต้นไม้ในพื้นที่ผลิตได้ โดยใช้ค่าประมาณของเส้นรอบวง 850 เซนติเมตร สามารถผลิตออกซิเจนให้คนได้ 1 คน
  4. คำนวณหาปริมาณออกซิเจนที่ป่าสามารถผลิตได้ จากข้อมูลพื้นที่ป่า ตัวอย่างเช่น ป่าเขาคอหงส์มีพื้นที่ป่าประมาณ 12,000,000 ตารางเมตร
  5. อธิบายความสำคัญของป่าในฐานะผู้ผลิตออกซิเจน และส่งเสริมการปลูกต้นไม้ภายในพื้นที่ใกล้ตัว เช่น บ้าน และโรงเรียน

 

กิจกรรม E02 ธนาคารน้ำ

ช่วงชั้นที่เหมาะสม

ม.1–ม. 6

จำนวนนักเรียนที่เหมาะสม

30 คน

เวลาที่ใช้

45-60 นาที

หมายเหตุ

กิจกรรมภาคสนาม

หน้าที่ที่สำคัญอีกประการของป่า คือเป็นแหล่งต้นน้ำ โดยป่าจะกักเก็บน้ำฝนไว้ใต้ดิน แล้วค่อยๆปลดปล่อยน้ำออกมาทีละน้อย ช่วยให้น้ำที่มากเกินไปไม่ไหลท่วมบ้านเมือง ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้มีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้งที่มีฝนน้อย คล้ายกับธนาคารที่คอยรักษาเงินไว้ในยามมีเงิน และสามารถถอนออกมาใช้เวลาขาดแคลน กิจกรรมนี้จะให้นักเรียนคำนวณหาปริมาณน้ำที่ป่าผลิตออกมาในรูปแบบลำธาร

วิธีการ

  1. สำรวจลักษณะทั่วไปของลำธาร รวมถึงระบบนิเวศในลำธาร
  2. ให้นักเรียนคิดหาวิธีวัดปริมาณน้ำที่ไหลในลำธาร
  3. หากนักเรียนมีปัญหา ให้พยายามแนะนำวิธีการ โดยใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์พื้นฐาน ดังนี้
    • หาพื้นที่หน้าตัดของลำธาร
    • วัดความเร็วน้ำไหล โดยอาจใช้ใบไม้ลอยน้ำ แล้วจับเวลาหาความเร็ว
    • คำนวณเป็นอัตราน้ำที่ไหลผ่านจุดจุดหนึ่งในเวลาที่กำหนด
    • คำนวณออกมาเป็นอัตราน้ำที่ไหลลงสู่ปลายน้ำในระยะเวลา 1 วัน
  4. สรุปให้เห็นความสำคัญของป่าในฐานะแหล่งต้นน้ำ เชื่อมโยงไปยังค่าน้ำซึ่งเป็นตัวเลขที่เห็นได้ชัดเจน

 

กิจกรรม E03 พฤติกรรมความเคยชิน

ช่วงชั้นที่เหมาะสม

ม.1–ม. 6

จำนวนนักเรียนที่เหมาะสม

30 คน

เวลาที่ใช้

30 นาที

สัตว์มีพฤติกรรมเพื่อตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน สิ่งเร้าที่ต่างกันส่งผลต่อการตอบสนองของสัตว์ ความเคยชิน (Habituation) เป็นหนึ่งในพฤติกรรมพื้นฐานของสัตว์ ซึ่งพบได้ตั้งแต่ในสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ไปจนถึงสัตว์มีกระดูกสันหลัง พฤติกรรมประเภทนี่มีลักษณะเป็นการตอบสนองที่ลดลงต่อสิ่งเร้าเดิมๆ เพื่อประโยชน์ในการลดการใช้พลังงาน

วิธีการ

  1. กิจกรรมนี้ใช้หอยทากเป็นสัตว์ทดลอง จึงต้องอธิบายเรื่องหลักจรรยาบรรณในการใช้สัตว์ทดลองก่อน
  2. แบ่งกลุ่มให้นักเรียนศึกษาลักษณะทั่วไปของหอยทาก
  3. ปล่อยหอยทากให้ตื่นตัวเป็นปกติ เคาะเปลือกหอยทากเบาๆ หอยทากจะหดตัวเข้าไปในเปลือก
  4. จับเวลาที่หอยทากจะออกมาจากเปลือกและตื่นตัวเป็นปกติอีกครั้ง
  5. ทำการเคาะซ้ำ และจับเวลาซ้ำ
  6. สร้างกราฟแสดงเวลาที่หอยทากใช้ในการออกมาจากเปลือกและตื่นตัวปกติเหมือนเดิม
  7. ทดลองหาสิ่งเร้าอื่นๆ นอกจากการเคาะเปลือก
  8. อธิบายสรุปประโยชน์ของพฤติกรรมความเคยชิน

 

กิจกรรม E04 การเลียนแบบ

ช่วงชั้นที่เหมาะสม

ม.1–ม. 6

จำนวนนักเรียนที่เหมาะสม

5 คน (สามารถทำพร้อมกันได้หลายกลุ่ม)

เวลาที่ใช้

30 นาที

สัตว์บางชนิดมีวิวัฒนาการให้ตัวเองมีรูปพรรณสัณฐานคล้ายกับสัตว์ชนิดอื่นเพื่อป้องกันตัวจากผู้ล่า หรือเพื่อหาอาหาร ลักษณะดังกล่าวเรียกว่า การเลียนแบบ สัตว์ที่เลียนแบบสัตว์มีพิษจะได้รับประโยชน์ในการเลี่ยงศัตรูโดยที่ไม่ต้องลงทุนสร้างพิษเอง

วิธีการ

  1. กิจกรรมนี้ใช้เหรียญ 1 บาท 50 เหรียญ เหรียญ 2 บาท สีเงิน 50 เหรียญ และเหรียญ 2 บาท สีทอง 50 เหรียญ
  2. นำเหรียญทั้งหมดใส่รวมกันในภาชนะ
  3. ออกคำสั่งให้นักเรียนแต่ละคนหยิบเหรียญออกจากภาชนะ ทีละคน ครั้งละ 1 เหรียญ โดยมีข้อแม้ว่าห้ามหยิบเหรียญ 1 บาท โดยสมมุติว่าเหรียญ 1 บาท มีพิษ
  4. จับเวลา 30 วินาที แล้วนำเหรียญทั้งหมดที่หยิบออกมามานับ ดูว่าระหว่างเหรียญ 2 บาท สีเงิน กับสีทอง เหรียญชนิดใดถูกหยิบออกมามากกว่ากัน (โดยหลักการแล้ว เหรียญสีทองจะถูกหยิบออกมามากกว่า)
  5. สรุปและอธิบายเกี่ยวกับการเลียนแบบ
  6. ให้นักศึกษาเปรียบเทียบตัวอย่างสัตว์ที่มีการเลียนแบบ เปรียบเทียบกับสัตว์ที่ถูกเลียนแบบ เช่น แมลงวันดอกไม้ กับผึ้ง

 

กิจกรรม G01 การจัดจำแนกสิ่งมีชีวิต

ช่วงชั้นที่เหมาะสม

ม. 4 –ม. 6

จำนวนนักเรียนที่เหมาะสม

30 คน

เวลาที่ใช้

30 นาที

กิจกรรมนี้ฝึกให้นักเรียนสามารถจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะแต่งต่างกัน อย่างมีระบบ ซึ่ง Dichotomous Key เป็นวิธีการสากลที่เป็นที่ยอมรับ นอกจากจะสามารถใช้จัดจำแนกสิ่งมีชีวิตได้แล้ว Dichotomous Key ยังจะช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจเรื่องราวของวิวัฒนาการได้ดีขึ้นอีกด้วย

วิธีการ

  1. อธิบายหลักการเบื้องต้นของ Dichotomous Key
  2. ฝึกให้นักเรียนสร้างDichotomous Keyจากตัวอย่างที่สร้างไว้แล้ว
  3. ให้นักเรียนศึกษา และฝึกการสร้าง Dichotomous Key จากตัวอย่างสิ่งมีชีวิตจริงที่ให้มาใหม่
  4. อธิบายสรุปประโยชน์และความสำคัญของ Dichotomous Key ต่อการศึกษาอนุกรมวิธาน และวิวัฒนาการ

 

กิจกรรม G02 การคัดสรรตามธรรมชาติและการเกิดชนิดใหม่

ช่วงชั้นที่เหมาะสม

ม. 4–ม. 6

จำนวนนักเรียนที่เหมาะสม

30 คน

เวลาที่ใช้

30 นาที

การคัดสรรตามธรรมชาติ เป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้เกิดวิวัฒนาการในสิ่งมีชีวิต ในกระบวนการดังกล่าว ลักษณะที่ช่วยให้สิ่งมีชีวิตอยู่รอดจะถูกส่งต่อไปยังรุ่นต่อไป ในขณะที่ลักษณะที่เป็นโทษก็จัดถูกกำจัด ดังนั้นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันที่ถูกแยกให้อยู่ในถิ่นอาศัยที่ต่างกัน ก็อาจมีลักษณะแตกต่างกันออกไปเรื่อยๆ เมื่อกระบวนการคัดสรรเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็จะทำให้สิ่งมีชีวิตกลุ่มนั้น มีโอกาสที่จะวิวัฒน์ไปเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต่างออกไป

วิธีการ

  1. ให้นักเรียนจับคู่กัน
  2. ในแต่ละคู่ ให้นักเรียนเลือกลักษณะของนก จากรายการที่กำหนดให้ และสร้างนกในจินตนาการที่นักเรียนคิดว่าสามารถอยู่รอดในธรรมชาติได้ดีที่สุด ตัวอย่างเช่น ขาสั้นหรือขายาว ปีกกว้าง หรือปีกแคบ
  3. แยกคู่ของนักเรียน เพื่อจำลองการแยกกันของประชากร ไปสู่สภาพแวดล้อมที่ต่างกัน
  4. เมื่อได้กลุ่มประชากรที่แยกออกจากกัน ทำการจับฉลากสภาพแวดล้อม ซึ่งส่งผลต่อการอยู่รอดของประชากรนก
  5. ดังนั้น นกชนิดเดียวกัน ที่ถูกแยกออกจากกันเพื่อไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ก็จะมีความสามารถในการอยู่รอดต่างกัน
  6. อธิบายสรุปใจความสำคัญของการคัดสรรตามธรรมชาติและชีวภูมิศาสตร์ ต่อวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

 

กิจกรรม G03 ยีนส์กระโดด

ช่วงชั้นที่เหมาะสม

ม. 4–ม. 6

จำนวนนักเรียนที่เหมาะสม

30 คน

เวลาที่ใช้

30 - 60 นาที

ยีนส์ คือชิ้นส่วนของดีเอ็นเอ ที่ปกติแล้วมีหน้าที่ควบคุมการแสดงออกทางพันธุกรรม ในอดีตเชื่อกันว่ายีนส์แต่ละยีนส์มีตำแหน่งที่แน่นอนบนโครโมโซม แต่ในปัจจุบันทราบกันแล้วว่ามียีนส์ชนิดหนึ่งที่สามารถเคลื่อนที่ไปมาบน DNA ได้ เรียกว่า ยีนส์กระโดด หรือ Jumping Genesและการเคลื่อนที่ของยีนส์เหล่านี้เอง ที่ทำให้เกิดความผันแปรทางพันธุกรรม หรือการกลายพันธุ์ ซึ่งในบางครั้งทำให้เกิดโรคได้ การเรียนรู้เรื่องยีนส์ชนิดนี้ช่วยให้นักเรียนเข้าใจบทบาทหน้าที่ของยีนส์ได้ดีขึ้น

วิธีการ

  1. แบ่งนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม
  2. ให้นักเรียนตอบคำถามเกี่ยวกับพันธุศาสตร์ เพื่อสะสมเหรียญที่จะใช้ในกิจกรรมต่อไป
  3. ให้นักเรียนแต่ละกลุ่ม แข่งกันโยนเหรียญ ซึ่งเป็นตัวแทนของยีนส์กระโดด ลงบนแบบภาพจีโนมของมนุษย์ ซึ่งมีตำแหน่งยีนส์ต่างๆ
  4. หากเหรียญตกลงบนยีนส์ใด หมายความว่ายีนส์ชนิดนั้นถูกทำลาย
  5. สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่จะเกิดขึ้น หลังจากยีนส์ถูกทำลาย
  6. เล่นเกมส์ใบ้คำเพื่อทายอาการของโรคที่เกิดขึ้น
  7. สรุปความหมายและความสำคัญของการศึกษายีนส์กระโดด และเชื่อมโยงไปสู่กระบวนการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตจากการกลายพันธุ์

 

Copyright © 2015-2025 Princess Maha Chakri Sirindhorn Natural History Museum
Page designed and created by Thidawan.s