คลังตัวอย่างแมลงเก็บรวบรวมตัวอย่างสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในกลุ่มแมลง และกลุ่มใกล้เคียง เช่น แมลงหางดีด (ปัจจุบันไม่จัดเป็นแมลง) และแมง คลังตัวอย่างแมลงถูกแยกออกจากคลังตัวอย่างสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ เนื่องจากจำนวนตัวอย่างที่มีจำนวนมาก และมีวิธีการดูแลรักษาตัวอย่างที่ไม่เหมือนกัน ลักษณะการเก็บรักษาส่วนใหญ่เป็นการยึดตัวอย่างแห้งด้วยเข็มหมุดและอบแห้ง แต่ก็มีบางส่วนที่เก็บโดยการแช่ไว้ในสารละลาย

คลังตัวอย่างผีเสื้อกลางวัน

ภัณฑารักษ์: ณัฐรดา มิตรปวงชน

ผีเสื้อเป็นหนึ่งในแมลงที่มีความหลากหลายมากที่สุด แมลงในอันดับนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มย่อย คือ ผีเสื้อกลางวัน และผีเสื้อกลางคืน ผีเสื้อทั้งหมดที่ลงทะเบียนไว้ในคลังตัวอย่างนี้เป็นผีเสื้อกลางวัน ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 10,100 ตัวอย่าง 950 ชนิด หรือคิดเป็น 74% ของจำนวนผีเสื้อกลางวันที่พบในประเทศ1

คลังตัวอย่างแมลงหางดีด

ภัณฑารักษ์: ดร.โสภาค จันทฤทธิ์

แมลงหางดีดเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ขาข้อ และเป็นสิ่งมีชีวิตรอยต่อระหว่างกลุ่มครัสเตเชีย และกลุ่มแมลง แมลงหางดีดอยู่ในชั้น Collembola รูปร่างมีขนาดเล็ก (0.2 - 8 มิลลิเมตร) มีความสำคัญในระบบนิเวศในฐานะผู้ช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ ปัจจุบันมีแมลงหางดีดที่ถูกระบุชื่อในโลกนี้มากกว่า 8,000 ชนิด สำหรับประเทศไทย มีรายงานการพบแมลงหางดีดอย่างน้อย 4 อันดับ 14 วงศ์ 53 สกุล 194 ชนิด

สำหรับตัวอย่างของแมลงหางดีดในพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารีนั้น มีแมลงหางดีดที่ได้รับการลงทะเบียนและเป็นตัวอย่างต้นแบบ จำนวน 6 ชนิด แบ่งเป็นกลุ่มแมลงหางดีดหางหนาม 4 ชนิด ได้แก่ Cyphoderopsis phangnga Jantarit et al., 2013 Cyphoderopsis thachana Jantarit et al., 2013 Cyphoderopsis khaophang Jantarit et al., 2013 และ Cyphoderopsis cavicola Jantarit et al., 2013 และกลุ่มแมลงหางดีดหางขนนก 2 ชนิด ได้แก่ Cyphoderus songkhlaensis Jantarit et al., 2014 และ Cyphoderus khaochakanus Jantarit et al., 2014

เนื่องจากความรู้ด้านอนุกรมวิธาน นิเวศวิทยาของแมลงหางดีดในประเทศไทยยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างแพร่หลายและมีข้อจำกัดในเรื่องความรู้ คู่มือการจัดจำแนกและผู้เชี่ยวชาญ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตัวอย่างของแมลงหางดีดที่ได้รับการลงทะเบียนและเป็นตัวอย่างต้นแบบมีจำนวนไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม จากโครงการวิจัยการศึกษาแมลงหางดีดในถ้ำของคาบสมุทรไทย ทำให้ได้ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงหางดีดในถ้ำเป็นจำนวนมาก และหลายชนิดมีแนวโน้มเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบและเผยแพร่ข้อมูลผลงานทางวิชาการ ทำให้มีแมลงหางดีดที่รอการลงทะเบียนในฐานข้อมูลของทางพิพิธภัณฑ์ฯ กว่า 9 วงศ์ 23 สกุล และอย่างน้อย 61 ชนิด


1EK-AMNUAY, P. 2007. Butterflies of Thailand. Fascinating insects. Vol. 2. (1st edition). Bangkok: Amarin Printing and Publishing Public Co., Ltd.

Copyright © 2015-2025 Princess Maha Chakri Sirindhorn Natural History Museum
Page designed and created by Thidawan.s