สัตว์มีกระดูกสันหลังเป็นกลุ่มสัตว์ที่มีลักษณะสัณฐานวิทยาที่ซับซ้อน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างมีที่จะต้องมีการเก็บรักษาตัวอย่างเพื่อการศึกษาในระยะยาว ส่วนใหญ่จะถูกเก็บรักษาไว้ในสารละลายทั้งตัว อย่างไรก็ตาม ผิวหนัง โครงกระดูก กะโหลก และฟัน ก็เป็นชิ้นส่วนที่สำคัญที่ใช้จัดจำแนกชนิดของสัตว์มีกระดูกสันหลัง จึงอาจมีการเก็บตัวอย่างที่จำเพาะเหล่านี้แยกออกมา

คลังตัวอย่างปลา

ภัณฑารักษ์ : ผศ.ดร.วชิระ เหล็กนิ่ม

คลังตัวอย่างปลาเก็บรวบรวมตัวอย่างปลา ทั้งปลาน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ตัวอย่างส่วนใหญ่ได้มาจากงานวิจัยของอาจารย์ในภาควิชาชีววิทยา ปลาทั้งหมดถูกเก็บรักษาไว้ในสารละลาย ดั้งเดิมแล้วตัวอย่างปลาถูกเก็บไว้ในสารละลายฟอร์มาลีน แต่เนื่องจากความเป็นพิษ ตัวอย่างที่เก็บใหม่จะเก็บรักษาไว้ในสารละลายเอทานอล70% ส่วนตัวอย่างเก่าที่ถูกทยอยเปลี่ยนถ่ายจากสารละลายฟอร์มาลีน มาอยู่ในสารละลายแอลกอฮอล์เช่นกัน คลังตัวอย่างปลาตั้งอยู่ในห้องคลังตัวอย่างเปียก บริเวณชั้น 1 ตึกพิพิธภัณฑ์ฯ ในคลังตัวอย่างมีตัวอย่างปลาที่ถูกเก็บรักษาไว้จำนวน 3,000 ตัวอย่าง จากปลา 880 ชนิด หรือคิดเป็น 41% ของจำนวนปลาที่พบทั้งหมดในประเทศไทย1

คลังตัวอย่างสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์เลื้อยคลาน

ภัณฑารักษ์: ดร.ศันสรียา วังกุลางกูล

คลังตัวอย่างสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลานเก็บรวบรวมตัวอย่างส่วนใหญ่จากประเทศไทยส่วนคาบสมุทร หรือคิดเป็น 90% ของตัวอย่างทั้งหมด ตัวอย่างส่วนใหญ่ถูกเก็บรักษาไว้ในสารละลายเอทานอล 70% นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างโครงกระดูก และผิวหนัง คลังตัวอย่างนี้เก็บรักษาตัวอย่างสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจำนวน 1,376 ตัวอย่าง จาก 83 ชนิด หรือคิดเป็น 59% ของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่พบในประเทศ2 และตัวอย่างสัตว์เลื้อยคลานจำนวน 613 ตัวอย่าง จาก 148 ชนิด หรือคิดเป็น 46% ของสัตว์เลื้อยคลานในประเทศ3 ในจำนวนนี้มีตัวอย่างต้นแบบของตุ๊กกายหมอบุญส่ง (Cyrtodactylus lekaguli Grismer et al, 2013) และตุ๊กกายประดับดาว (Cyrtodactylus astrum Grismer et al, 2013) ด้วย

คลังตัวอย่างนก

ภัณฑารักษ์: ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข

คลังตัวอย่างนกเป็นคลังตัวอย่างใหม่ ที่เพิ่งเริ่มมีการเก็บรวบรวมตัวอย่างเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งตัวอย่างส่วนใหญ่ได้มาจากงานวิจัย โดยทั่วไปแล้วตัวอย่างนกจะถูกเก็บรักษาในรูปของผิวหนัง ปัจจุบันมีตัวอย่าง 73 ตัวอย่าง จากสัตว์ปีก 31 ชนิด

คลังตัวอย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ภัณฑารักษ์: พิพัฒน์ สร้อยสุข และอวัศยา พิมสาย

ตัวอย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก โดยเฉพาะอันดับค้างคาว และสัตว์ฟันแทะมีการจัดเก็บทั้งแบบตัวอย่างดอง ตัวอย่างผิวหนัง และตัวอย่างกะโหลก ประกอบด้วยตัวอย่างที่ลงทะเบียนแล้วรวมทั้งสิ้น 629 ตัวอย่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 98 ชนิดในจำนวนนี้มีตัวอย่างต้นแบบของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใหม่ 7 ชนิด ได้แก่ ค้างคาวมงกุฎภูเขา (Rhinolophus monticolus Soisook et al., 2016) ค้างคาวมงกุฎสามใบพัดเทาดำ (Rhinolophus francisi thailandicus Soisook et al., 2015) ค้างคาวแวมไพร์แปลงทองอารีย์ (Eudiscoderma thongareea Soisook et al., 2015) ค้างคาวจมูกหลอดหูสั้นใต้ (Murina guilleni Soisook et al., 2013) ค้างคาวจมูกหลอดบาลา (Murina balaensis Soisook et al., 2013) ค้างคาวหน้ายักษ์สามหลืบญวน (Hipposideros alongensis sungi Thong et al., 2012) และ พญากระรอกบินลาว(Biswamopyopterus laoensis Sanamxay et a., 2013) นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในกระบวนการลงทะเบียนอีกจำนวนมาก นับได้ว่าคลังตัวอย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมของพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา เป็นหนึ่งในคลังตัวอย่างอ้างอิงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย


1FROESE, R. & D. PAULY (eds.) 2016. FishBase. www.fishbase.org (accessed October, 1st 2016)

2CHAN–ARD, T. 2003. Amphibians in Thailand. Bangkok: Dan Suttha Printing Co., Ltd. [in Thai].

3NABHITABHATA, J., T. CHAN–ARD & Y. CHUAYNKERN 2000. Checklist of Amphibians and Reptiles in Thailand. Bangkok: Office of Environmental Policy and Planning (OEPP).

Copyright © 2015-2025 Princess Maha Chakri Sirindhorn Natural History Museum
Page designed and created by Thidawan.s