The 2nd APRU Research Symposium on University Museums เป็นการประชุมระหว่างมหาวิทยาลัยสมาชิกในเครือข่าย APRU (Association of Pacific Rim Universities) เกี่ยวกับเรื่องพิพิธภัณฑ์ในมหาวิทยาลัย โดยในปีนี้มีมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National University of Taiwan) เป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 23 พฤษภาคม 2557

การประชุมครั้งนี้เน้นเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมบริการวิชาการชุมชน (Outreach) ซึ่งจะเป็นการที่พิพิธภัณฑ์ในมหาวิทยาลัยจะเข้าถึงชุมชนได้มากขึ้น โดยไม่ต้องรอให้ประชาชนที่อยู่ในชุมชนเข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เอง นับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะทำให้มหาวิทยาลัยได้ใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้น ทั้งนี้ในการประชุมครั้งนี้มีตัวแทนจากพิพิธภัณฑ์ในมหาวิทยาลัยจากนานาประเทศเข้าร่วมกว่า 10 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แคนาดา สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย และไทย สำหรับประเทศไทยนั้นมีตัวแทนหนึ่งเดียวคือ พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี โดยมีบุคคลากรเข้าร่วมนำเสนอผลงานทั้งหมด 4 คน ได้แก่ ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข นายยิ่งยศ ลาภวงศ์ นางสาวอัมพร พลับพลึง และนางสายอุไรพร พิมสาย

การเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีที่จะให้บุคลากรที่ทำงานในวงการพิพิธภัณฑ์ในมหาวิทยาลัยได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ โดยเฉพาะในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว ทำให้พิพิธภัณฑ์ในมหาวิทยาลัยต้องมีการปรับตัวเพื่อให้เป็นองค์กรที่ทำประโยชน์ให้กับสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งนี้พิพิธภัณฑ์ในมหาวิทยาลัยของเอเชียส่วนใหญ่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีอายุน้อย และขาดประสบการณ์ ในขณะที่พิพิธภัณฑ์ทางฝั่งอเมริกาซึ่งถูกจัดตั้งมานานทำให้มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการมายาวนานกว่า การประชุมครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ และยังชักนำให้เกิดความร่วมมือในระยะยาว เพื่อพัฒนางานด้านพิพิธภัณฑ์ในมหาวิทยาลัย

การประชุมวิชาการครั้งนี้ไม่ใช่แค่เพียงการนำเสนอการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ในมหาวิทยาลัย แต่ยังมีเวทีอภิปรายเกี่ยวกับอุปสรรค ปัญหา และแนวทางแก้ไขเกี่ยวกับการดำเนินงาน ขอยกตัวอย่างประเด็นที่น่าสนใจ 3 ประเด็น ที่มีการอภิปรายกัน ประเด็นแรกคือประเด็นของงานอาสาสมัคร เป็นที่สังเกตว่าในโลกตะวันตก บุคคลภายนอกจำนวนมากมีความสนใจที่จะเข้ามาปฏิบัติงานเป็นอาสาสมัครช่วยทำงานภายในพิพิธภัณฑ์ ในขณะที่ในเอเชียนั้น กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก ในประเด็นนี้มีการอภิปรายกันว่าจะมีวิธีการใดที่จะพัฒนางานอาสาสมัครในพิพิธภัณฑ์ในเอเชียให้ดีขึ้น ที่น่าสนใจก็คือ พิพิธภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จในการดึงดูดอาสาสมัครส่วนใหญ่ จะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีเนื้อหายึดโยงกับชุมชน ทำให้ผู้ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นอาสาสมัครมีความรู้สึกในการเป็นเจ้าของร่วม ณ ที่นี้ ชุมชนคือมหาวิทยาลัย การจัดการเนื้อหาให้สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอนจึงเป็นวิธีหนึ่งที่ทำได้ นอกจากนี้รูปแบบของการตอบแทนอาสาสมัครยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แม้บุคคลที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครจะไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนที่เป็นรูปธรรมในการปฏิบัติงาน แต่การตอบแทนด้วยกิจกรรม และสิทธิพิเศษบางประการจะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวและดึงดูดอาสาสมัครให้รู้สึกรัก และผูกพันกับพิพิธภัณฑ์นั่นเอง

อีกประเด็นหนึ่งก็คือการดึงดูดผู้เข้าชม เป็นที่สังเกตว่ากลุ่มผู้เข้าชมที่ยากที่สุดที่จะเข้าถึงสำหรับพิพิธภัณฑ์ในมหาวิทยาลัย กลับเป็นนักศึกษา และบุคลากรในมหาวิทยาลัยนั้นๆเอง ทั้งๆที่กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความได้เปรียบในเรื่องการเดินทาง สาเหตุหลักของปัญหานี้คือพิพิธภัณฑ์ในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีการจัดการเน้นไปที่การดึงดูดบุคคลภายนอก เป็นเสมือนสถานที่รับแขก ทั้งที่โดยหลักการแล้วพิพิธภัณฑ์ในมหาวิทยาลัยควรมีหน้าที่หลักในการสนับสนุนกิจกรรมการเรียนการสอนและการวิจัย นี่อาจเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขในระดับนโยบาย โดยการทำความเข้าใจกับผู้บริหาร แนวทางในการแก้ไขปัญหาอีกแนวทางหนึ่งก็คือการประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยเน้นไปที่นักศึกษาเข้าใหม่ เนื่องจากนักศึกษาเหล่านี้เป็นกลุ่มที่เข้าถึงได้ง่าย และมีความกระตือรือร้นสูง โดยประชาสัมพันธ์สอดแทรกเข้าไปในกิจกรรมต่างๆในช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ อีกแนวทางคือการพยายามนำเสนอนิทรรศการ หรือจัดกิจกรรมเสริม ที่มีเนื้อหายึดโยงกับหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้นักศึกษาได้เข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรภายในพิพิธภัณฑ์ในการศึกษาหาความรู้

ประเด็นสุดท้ายเป็นประเด็นเกี่ยวกับการประเมิน เนื่องจากพิพิธภัณฑ์เป็นหน่วยงานในมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องผ่านระบบการประเมิน เพื่อการปรับปรุงพัฒนา และการจัดการงบประมาณ อย่างไรก็ตามการประเมินพิพิธภัณฑ์เป็นสิ่งยาก การประเมินผลส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ตัวเลข เช่น รายได้ จำนวนผู้เข้าชม และผลงานเผยแพร่ แต่พิพิธภัณฑ์เป็นองค์การที่ไม่หวังผลกำไร จึงไม่สามารถประเมินด้วยรายได้ และผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานส่วนนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์คือความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติ เกี่ยวกับเรื่องราวที่นำเสนอ ซึ่งจะเป็นผลในระยะยาว เป็นนามธรรม ไม่สามารถชี้วัดออกมาเป็นค่าทางสถิติได้ ทำให้การประเมินด้วยค่าชี้วัดที่เป็นตัวเลขนั้นไม่สามารถสะท้อนความสำเร็จที่แท้จริงของพิพิธภัณฑ์ได้

ดังนั้นการประเมินพิพิธภัณฑ์จึงควรเน้นไปที่การประเมินเชิงคุณภาพ อย่างไรก็ตามการประเมินเชิงคุณภาพต้องอาศัยความรู้ และความเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา นอกจากการประชุมวิชาการแล้ว ผู้จัดงานยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อื่นๆในนครไทเป ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ชั้นนำซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี และมีรูปแบบการจัดการหรือกิจกรรมที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในโอกาสต่อไป

Copyright © 2015-2025 Princess Maha Chakri Sirindhorn Natural History Museum
Page designed and created by Thidawan.s