เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจาก 11 สถาบัน ใน 7 ประเทศ ค้นพบค้างคาวชนิดใหม่ พบได้ในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย

นักวิจัยนำโดย ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข จากพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี ม.สงขลานครินทร์ ร่วมกับทีมนักวิจัยจากอีก 10 สถาบันทั่วโลก ศึกษาอนุกรมวิธานของค้างคาวมงกุฎที่เก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และได้ประกาศการค้นพบค้างคาวชนิดใหม่ในวารสารวิชาการ Acta Chiropterologica ฉบับล่าสุด โดยเป็นค้างคาวมงกุฎในกลุ่มเดียวกับค้างคาวมงกุฎสามใบพัด (trifoliatus--group) มีชื่อว่า Francis’s wooly horseshoe bat ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rhinolophus francisi และชื่อไทยว่าค้างคาวมงกุฎสามใบพัดเทาดำ โดยทีมวิจัยได้ตั้งชื่อค้างคาวชนิดนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่ Dr. Charles M. Francis ผู้ศึกษาอนุกรมวิธานและเขียนทั้งบทความและหนังสือเกี่ยวกับค้างคาวและสัตว์เลี้ยวลูกด้วยนมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาอย่างยาวนาน และตั้งชื่อค้างคาวชนิดใหม่จากภูมิภาคนี้จำนวนมาก รวมทั้งเป็นผู้เก็บตัวอย่างค้างคาวที่เป็นตัวอย่างต้นแบบ (holotype) ของค้างคาวชนิดนี้ตั้งแต่ปีค.ศ. 1983 จากรัฐซาบาห์ของมาเลเซียในเกาะบอร์เนียว และตัวอย่างถูกเก็บรักษาไว้ที่ Natural History Museum, London ประเทศอังกฤษ และเนื่องจากตัวอย่างมีอายุมากแล้วทีมวิจัยจึงได้ใช้เทคนิค CT scan ศึกษากะโหลกของตัวอย่างเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับกะโหลกค้างคาว ร่วมกับการศึกษา echolocation และ genetic ด้วย

ค้างคาวมงกุฎสามใบพัดเทาดำเป็นค้างคาวขนาดใหญ่ มีขนาดตัวเท่าๆกับค้างคาวมงกุฎสามใบพัดแต่ต่างกันตรงที่ค้างคาวมงกุฎสามใบพัดนั้นสีของแผ่นจมูก หู ปีกและขนบางส่วนเป็นสีเหลือง แต่ของค้างคาวมงกุฎสามใบพัดเทาดำนั้นเป็นสีเทาอมน้ำตาล พบได้ในประเทศมาเลเซีย (ซาบาห์) อินโดนีเซีย (กาลิมันตัน) และไทย (ราชบุรี) โดยก่อหน้านี้เมื่อปีค.ศ. 2010 ค้างคาวชนิดนี้เคยได้รับการรายงานการพบว่าเป็น new record ของค้างคาวชนิด Rhinolophus beddomei เป็นครั้งแรกในประเทศไทย แต่จากการศึกษาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้นก็พบว่าแท้จริงแล้วเป็นค้างคาวชนิดใหม่ของโลก และเป็นชนิดเดียวกับตัวอย่างที่พบในบอร์เนียว แต่ประชากรที่พบในประเทศไทยนั้นมีความแตกต่างทางพันธุกรรมจากตัวอย่างในบอร์เนียว จึงได้ตั้งชื่อเป็นชนิดย่อย ชื่อว่า Rhinolophus francisi thailandicus

การค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าตัวอย่างอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์มีคุณค่าและความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาอนุกรมวิธานและช่วยให้เราเข้าใจรูปแบบความหลากหลายทางชีวภาพบนโลกใบนี้ได้ดียิ่งขึ้น

Source: SOISOOK, P., M. STRUEBIG, S. NOERFAHMY, H. BERNARD, I. MARYANTO, S.-F. CHEN, S. J. ROSSITER, H.-C. KUO, K. DESHPANDE, P. J. J. BATES, D. SYKES, and R. P. MIGUEZ. 2015. Description of a new species of the Rhinolophus trifoliatus-group (Chiroptera: Rhinolophidae) from Southeast Asia. Acta Chiropterologica, 17: 21-36.

Copyright © 2015-2025 Princess Maha Chakri Sirindhorn Natural History Museum
Page designed and created by Thidawan.s