นายเรืองฤทธิ์ พรหมดำ นักวิทยาศาสตร์ประจำพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี คณะวิทยาศาสตร์ และนายพัน ยี่สิ้น ภาควิชาเทคโนโลยีและการอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับศ.ดร.ปีเตอร์ อึง แห่งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา Lee Kong Chian มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ร่วมกันศึกษาตัวอย่างปูที่ถูกค้นพบจากเขาหินปูนในแถบพื้นที่อำเภอทุ่งหว้าจังหวัดสตูล

โดยจากผลการศึกษาพบว่ามีลักษณะทั่วไปคล้ายกับปูเขาหินปูนสตูล Terrapotamon longitarsus Lheknim & Ng, 2016 ที่พบครั้งแรกที่ถ้ำระยาบังสา อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เมื่อปี 2559 ซึ่งมีลักษณะขาเดินเรียวยาวมาก และกระดองค่อนข้างแบน แต่ปูจากทุ่งหว้าก็มีลักษณะที่แตกต่างออกไปเพียงพอที่จะแยกออกเป็นปูชนิดใหม่ ที่สังเกตได้ชัดอย่างเช่นความหนาของเส้นขอบกระดองด้านข้างส่วนหน้า ความหนาแน่นและความเด่นชัดของตุ่มบริเวณต่าง ๆ สัดส่วนความยาวของขาเดินปล้องรองจากปลายสุด และที่เด่นชัดที่สุดคือสีสันในตัวที่เต็มวัย จึงได้ร่วมกันทำการบรรยายลักษณะ และตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ตามพื้นที่ที่พบปูชนิดนี้ว่า Terrapotamon thungwa และตั้งชื่อไทยว่า ปูเขาหินปูนทุ่งหว้า

สำหรับการค้นพบนั้น นายสมหมาย พรหมวิจิตร กำนันตำบลป่าแก่บ่อหิน อำเภอทุ่งหว้า เกิดความสนใจว่าปูที่พบในท้องที่ของตนเป็นปูชนิดใด จึงได้ติดต่อและส่งมอบตัวอย่างปูเพศเมีย 1 ตัวที่เก็บได้ให้กับนายเรืองฤทธิ์นำไปตรวจสอบเมื่อปี 2558 จากนั้นในปีถัดมาทั้งนายเรืองฤทธิ์ และนายพัน ได้ค้นพบตัวอย่างปูทั้งเพศผู้และเพศเมียเพิ่มเติม จึงได้ร่วมมือกับศ.ดร.ปีเตอร์ อึง ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานสัตว์กลุ่มปูทำการตรวจสอบเปรียบเทียบลักษณะ และได้ผลออกมาว่าเป็นปูชนิดใหม่จนได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานในวารสาร Raffles Bulletin of Zoology ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์

จนถึงเวลานี้ยังไม่มีการพบปูเขาหินปูนทุ่งหว้าเพิ่มเติมจากพื้นที่นอกอำเภอทุ่งหว้าเลย จึงอาจจะเป็นไปได้ว่าปูชนิดนี้มีการกระจายแคบมาก และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของอำเภอทุ่งหว้าและจังหวัดสตูลก็ว่าได้ จึงสมควรอย่างยิ่งที่ชาวบ้านในท้องที่จะต้องช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้ในพื้นที่เพราะหากปูถูกรบกวนจนหายไปจากอำเภอทุ่งหว้าแล้วก็จะไม่สามารถนำจากพื้นที่อื่นเข้ามาปล่อยทดแทนได้อีกเลย

Source: Promdam, R., Yeesin, Pun & Ng, P.K.L. 2017. A second new species of terrestrial long-legged Terrapotamon Ng, 1986 (Crustacea: Brachyura: Potamidae) from karst forests in Peninsular Thailand. Raffles Bulletin of Zoology. 65; 404–415. [PDF]

Copyright © 2015-2025 Princess Maha Chakri Sirindhorn Natural History Museum
Page designed and created by Thidawan.s