นิทรรศการคือหนึ่งในส่วนที่สำคัญที่สุดของพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากเป็นส่วนที่เปิดให้สาธารณชนได้เข้ามาใช้ประโยชน์ในการศึกษาหาความรู้ และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งจะนำไปสู่แรงบันดาลใจในการต่อยอดการเรียนรู้ต่อไป โดยพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี ได้จัดแสดงนิทรรศการทางธรรมชาติวิทยาไว้ในบริเวณตึกพิพิธภัณฑ์ฯ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ตึกไดโนเสาร์” เนื่องจากบริเวณด้านหน้าตึกมีรูปปั้นของไดโนเสาร์ที่พบในประเทศไทยตั้งอยู่ 3 ตัว ตึกพิพิธภัณฑ์ฯแห่งนี้ประกอบไปด้วยพื้นที่จัดแสดงหลักๆ 6 บริเวณ ได้แก่

พื้นที่นอกอาคาร

พื้นที่นอกอาคาร เป็นพื้นที่ที่บุคคลทั่วไป โดยเฉพาะนักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สามารถมองเห็นขณะสัญจรผ่านไปมาได้ ซึ่งเป็นเหมือนการแนะนำพิพิธภัณฑ์ฯ เบื้องต้น สิ่งที่จัดแสดงบริเวณดังกล่าวก็จะเป็นสิ่งที่ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ หรือเป็นลักษณะของพืชพรรณ และระบบนิเวศ

ชนิดของหิน
บริเวณนอกอาคารจัดแสดงตัวอย่างหินชนิดต่างๆ เรียงตามทางเดินรอบอาคาร พร้อมป้ายอธิบายบอกชื่อ และประโยชน์ รวมถึงแหล่งที่พบ ทั้งยังมีตัวอย่างไม้กลายเป็นหินด้วย

พืชป่าชายหาด
ริมทางเดินเข้าสู่ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงพืช ที่พบได้บริเวณป่าชายหาดชนิดต่างๆ พร้อมป้ายชื่อ และคำบรรยาย

สังคมพืชชุ่มน้ำ
บริเวณสระน้ำหน้าอาคาร มีการจัดสวนพืชชุ่มน้ำ แสดงสังคมพืชน้ำในแหล่งน้ำ และพืชที่ขึ้นริมแหล่งน้ำ เพื่อให้ผู้เข้าชมเห็นสภาพและได้ศึกษาระบบนิเวศน้ำจืดได้อีกด้วย

โถงอาคาร

โถงอาคารเป็นส่วนพื้นที่ทางเข้านิทรรศการ ภายในตึกพิพิธภัณฑ์ฯ โดยปกติแล้วพื้นที่โถงจะใช้เป็นพื้นที่รวมพล เพื่อแนะนำ หรืออธิบายเกี่ยวกับภาพรวมของพิพิธภัณฑ์ฯ ก่อนที่ผู้เข้าชมจะเข้าสู่ตัวนิทรรศการหลัก พื้นที่ดังกล่าวจึงมีการจัดแสดงนิทรรศการเล็กๆน้อยๆ ตัวอย่างเช่น

ตู้ปลาน้ำจืด และตู้ปลาน้ำเค็ม
แสดงพันธุ์ปลา และสัตว์น้ำอื่นๆ ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม โดยมีป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับชีววิทยา และ นิเวศวิทยาของสัตว์บางชนิดที่น่าสนใจ

หุ่นจำลองปลาฉลามและปลากระเบน
แสดงหุ่นจำลองขนาดเท่าของจริงของปลาฉลาม และปลากระเบน ที่พบได้ในน่านน้ำไทย ตัวอย่างเช่น ปลาฉลามวาฬ ปลากระเบนนก เป็นต้น

นิทรรศการแสดงพันธกิจของพิพิธภัณฑ์
อธิบายพันธกิจของพิพิธภัณฑ์ และแสดงเครือข่ายงานวิจัย ของหน่วยวิจัยต่างๆ ที่ทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์

ชั้นที่ 1 ต้นกำเนิด

พื้นที่ชั้นที่ 1 จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับต้นกำเนิดของธรรมชาติ ตั้งแต่การก่อเกิดจักรวาล ไปจนถึงการกำเนิดสิ่งมีชีวิต และวิวัฒนาการ โดยมีการจัดเรียงเนื้อหาตามช่วงเวลา เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เข้าใจถึงความเป็นมาของโลก ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน

อวกาศ และดวงดาว
เป็นห้องจัดแสดงทฤษฎีการกำเนิดจักรวาล และดวงดาว โดยมีนิทรรศการภาพ และเสียง อธิบายสมมุติฐานต่างๆ ที่ นักวิทยาศาสตร์ได้เสนอขึ้นมา รวมถึงเรื่องราวของโลก ดวงจันทร์ และระบบสุริยะของเราด้วย

ธรณีวิทยา
แสดงภาพจำลองชั้นโครงสร้างภายในโลก ลักษณะเปลือกโลกและการเคลื่อนที่ของเปลือกโลก อันก่อให้เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิประเทศ นอกจากนี้ยังมีเกมตัวต่อแผ่นเปลือกโลก ที่อธิบายเกี่ยวกับลักษณะและตำแหน่งของแผ่นเปลือกโลกต่างๆ

หินและแร่
จัดแสดงตัวอย่างหิน และแร่ชนิดต่างๆ โดยเฉพาะที่พบในประเทศไทย พร้อมบอกประโยชน์ และที่มาของหินและแร่เหล่านั้น

ภูมิศาสตร์ของประเทศไทย และคาบสมุทรไทย
อธิบายการกำเนิดประเทศไทยในเชิงภูมิศาสตร์ สภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศของประเทศไทยในปัจจุบัน และรายละเอียดเกี่ยวกับภูมิประเทศของภาคใต้ของไทย

การกำเนิด และวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
ให้ความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีการกำเนิดสิ่งมีชีวิต และทฤษฎีวิวัฒนาการ มีการจัดแสดงตัวอย่างสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย และแตกต่างกัน อันเป็นผลผลิตของวิวัฒนาการอันยาวนาน นอกจากนี้ยังมีแผนภาพต้นไม้ แห่งวิวัฒนาการ และเกมเกี่ยวกับต้นไม้แห่งวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ซากดึกดำบรรพ์
แสดงตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์ แบ่งออกเป็นกลุ่ม เช่น พืช หอย แอมโมนอยด์ นอติลอยด์ เป็นต้น

มาตราธรณีกาล
แสดงโลกในยุคต่างๆ ซึ่งมีสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะต่างๆกันไป มีทางเดินศึกษาธรรมชาติของป่าในยุคคาร์บอนิเฟอรัส ซึ่งแสดงหุ่นจำลองของสิ่งมีชีวิตยุคดังกล่าวขนาดเท่าของจริง

ชั้นลอย มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ

นิทรรศการชั้นนี้เป็นนิทรรศการชั่วคราว ซึ่งจะปรับเปลี่ยนเพื่อให้สาธารณชนได้ความรู้ที่หลากหลาย และทันสมัย ตัวอย่างนิทรรศการที่เคยจัดบริเวณดังกล่าว ได้แก่ นิทรรศการความลับของกระดูก นิทรรศการบ้านของสัตว์ นิทรรศการครบรอบ 200 ปี Charles Darwin และนิทรรศการธรรมชาติในโลกใบจิ๋ว เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ และหุ่นจำลอง อธิบายวิวัฒนาการบรรพบุรุษของมนุษย์จากอดีตถึงปัจจุบัน

ชั้นที่ 2 ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต

พื้นที่ชั้นที่ 2 เปรียบได้กับหัวใจของพิพิธภัณฑ์ฯ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อธิบายเกี่ยวกับความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ตัวอย่างที่จัดแสดงส่วนใหญ่เป็นตัวอย่างจริง ซึ่งจะสร้างความรู้สึกตื่นเต้น และกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น และการเรียนรู้ให้กับผู้เข้าชมได้

สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่
นิทรรศการแสดงตัวอย่างสิ่งมีชีวิตชนิดใหญ่ที่พบโดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยเฉพาะนักวิจัยของพิพิธภัณฑ์ฯเอง ซึ่งประกอบไปด้วยแพลงก์ตอน ปู แมงมุม สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นต้น

โครงกระดูก
จัดแสดงโครงกระดูก และกะโหลกของสัตว์มีกระดูกสันหลังหลายชนิด พร้อมทั้งฟันของช้าง ซึ่งเป็นกระดูก ที่มีลักษณะเฉพาะตัว

ปะการัง
อธิบายวงจรชีวิตของปะการัง ความหลากหลายของปะการัง ความสัมพันธ์ระหว่างปะการังกับสาหร่ายเซลล์เดียวที่พึ่งพาอาศัยกัน

สัตว์ขาข้อ
อธิบายวิวัฒนาการของแมลง ความหลากหลายของแมลง โดยมีการจัดแสดงแบบจำลอง และตัวอย่างจริงแยกเป็นกลุ่มๆ

มอลลัสก์ (ปลาหมึก และหอย)
อธิบายลำดับวิวัฒนาการของสัตว์ในกลุ่มปลาหมึก และหอย และจัดแสดงตัวอย่างเปลือกหอยหลากหลาย ชนิด พร้อมทั้งให้ข้อมูลขอสัตว์บางชนิดที่น่าสนใจ เช่น หอยมุก และหอยเต้าปูน เป็นต้น

ปลา
จัดแสดงแผนภาพลำดับวิวัฒนาการของปลา และแบบจำลองปลาที่พบได้ในน่านน้ำไทย

สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์เลื้อยคลาน
จัดแสดงตัวอย่างดองของสัตว์กลุ่มดังกล่าว พร้อมคำบรรยาย

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
จัดแสดงตัวอย่างสตัฟฟ์ ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด

เมล็ด และผล
จัดแสดงตัวอย่างเมล็ด และผลของพืชบางชนิด โดยเฉพาะเมล็ด และผลของพืชที่มีวิวัฒนาการให้มีรยางค์ ช่วยในการกระจายพันธุ์โดยลม

ชั้นที่ 3 ระบบนิเวศ

นิทรรศการระบบนิเวศ เป็นการจำลองระบบนิเวศแบบต่างๆ โดยอธิบายถึงความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต และสิ่งไม่มีชีวิต ในพื้นที่หนึ่ง ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าชมเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของระบบนิเวศ และเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์

ระบบนิเวศทางทะเล
อธิบายลักษณะ และความสำคัญของระบบนิเวศทางทะเล ตั้งแต่ระบบนิเวศทะเลลึก ระบบนิเวศทะเลเปิด ระบบนิเวศแนวปะการังและสาหร่าย และระบบนิเวศแนวหญ้าทะเล

ระบบนิเวศชายฝั่ง
แสดงระบบนิเวศจำลองของป่าชายเลน หาดหิน และสันทรายชายหาด ซึ่งประกอบด้วยพืช และสัตว์ที่ปรับตัวเพื่อทนต่อสภาพของชายฝั่ง ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ระบบนิเวศป่าเขตร้อน
จำลองสภาพพื้นป่าของป่าเขตร้อนชนิดต่างๆ ได้แก่ ป่าชายเลน ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา และป่าเบญจพรรณ พร้อมคำบรรยายลักษณะป่าชนิดต่างๆ

ระบบนิเวศเขาคอหงส์
เป็นการนำผลการศึกษาวิจัย เกี่ยวกับพื้นที่ป่าเขาคอหงส์ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่สำคัญของเมืองหาดใหญ่ มาจัดแสดง และอธิบายถึงความสำคัญ โดยมีเป้าหมายในการสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ให้กับผู้เข้าชม ซึ่งส่วนใหญ่ มาจากภายในอำเภอหาดใหญ่ และพื้นที่ใกล้เคียง

ระบบนิเวศถ้ำหินปูน
ถ้ำจำลองซึ่งภายในมีนิทรรศการเกี่ยวกับการกำเนิดถ้ำ สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในถ้ำ โดยเฉพาะค้างคาว

บริการเชิงนิเวศของป่า
บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบริการที่มนุษย์ได้รับจากป่า ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของปัจจัย 4 และบริการอื่นๆที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของมนุษย์

ระบบนิเวศในแนวปะการังเทียม
แสดงผลการติดตามโครงการปะการังเทียมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ โดยเฉพาะระบบนิเวศซึ่งเกิดขึ้นใหม่หลังจากปะการังเทียมถูกติดตั้ง ณ ก้นทะเล

ระบบนิเวศย่อยบนต้นไทร
แสดงระบบนิเวศย่อยที่พบในบริเวณส่วนต่างๆของต้นไทร ตั้งแต่รากถึงยอด

นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นิทรรศการนี้จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องใน โอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 ปี โดยเนื้อหานิทรรศการได้กล่าวถึงพระกรุณาธิคุณที่ได้ทรงส่งเสริม งานวิจัยด้านธรรมชาติวิทยา และได้จัดแสดงสิ่งมีชีวิตที่ได้รับพระราชานุญาตตั้งชื่อตามสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

Copyright © 2015-2025 Princess Maha Chakri Sirindhorn Natural History Museum
Page designed and created by Thidawan.s